top of page
  • อภิรักษ์ ชัยปัญหา

รักเตลิด : “สยามแปลงร่าง” ช่วงแหว่งเว้า ที่เราไม่มีโอกาสได้รับรู้


จากพลอตที่กลับไปเล่าปี 2484 ในสมัยจอมพล ป. น่าสนุกมาก คิดว่ามีเรื่องสมัยนั้นยังสื่อสารกับคนไทยยุค 4.0 ยังไงฮะ

พี่ตั้ว : ประวัติศาสตร์ ช่วงแหว่งเว้าที่เราไม่มีโอกาสได้รับรู้จากหลักสูตรการศึกษา ราวกับว่ามันถูกจงใจให้เราไม่รู้จัก ไม่สนใจ ไม่จดจำ และอาจถูกยัดหัวด้วยภาพจำชุดต่างๆที่ห่างไปจากสิ่งที่เกิดขึ้น ผมคิดว่าการเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของปัจจุบัน และต่อความไฝ่ฝันถึงอนาคต และงานละครก็เป็นช่องทางที่คนเราจะสื่อสาร สนทนาวิสาสะกันได้สารพัดเรื่อง รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์ได้อย่างดี มีบทละครหลายเรื่องที่เล่าเรื่องราวในช่วง "สยามแปลงร่าง" คราวนี้ผมอยากเล่าบ้างแบบที่ต่างออกไป อย่างน้อยก็เพื่อถ่างกรอบความคิด การรับรู้ การจดทำ ของผู้ชมให้กว้างออกไปจากที่เคยได้บ้าง และแน่นอน มีอะไรบางอย่างที่อาจหยิบจับมาพิจารณาเรื่องรอบตัวใน 'วันนี้' ได้หลากมิติยิ่งขึ้น

การทำละครร้องสร้างใหม่ของพี่ตั้ว ที่ผ่านมาจะสร้างจากเรื่องราวของบุคคลในประวัติศาสตร์ คราวนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากอะไรครับ

พี่ตั้ว : แรงบันดาลใจหลัก คือ เรื่องของคุณ มัณฑนา โมรากุล ผู้ร้องเพลงสวมหมวก แต่กลับถูกเรียกตัวเข้าพบท่านผู้นำเพราะไม่สวมหมวกเสียเอง จนเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมค้นหาเรื่องรางที่ซุกซ่อน โยงไย ที่มา ที่ไป ของประมวลรัฐนิยม และระเบียบวัฒนธรรมแห่งชาติ ของจอมพลแปลก พิบูลย์สงคราม

ถามนักแสดงครูโอ๋ น้องบิทเติ้ล เสน่ห์ของการเล่นละครร้องกับพี่ตั้วคืออะไร ตัวละครที่เล่นในเรื่องนี้มีแง่มุมอะไรที่น่าสนใจบ้าง

บิทเติ้ล : เล่นละครร้องกับลุงตั้วนอกจากจะสนุกที่ได้ร้องได้เล่น ได้เรียนทำนองเพราะๆ ซึ่งเป็นของไทยมาซึมซับเก็บเอาไว้แล้ว ละครของลุงยังมีใจความที่เรารู้สึกร่วม และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในหลากหลายแง่มุม พอได้มาเล่นก็ถือเป็นโอกาสที่จะได้ขบคิดเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้มากขึ้น และทุกครั้งที่มาเล่นก็จะรู้สึกมีพลัง จากการที่ตัวเราเองได้มาเป็นส่วนหนึ่งของการบอกเล่าสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าเป็นสิ่งดี

สำหรับการแสดงเป็นตัวละครนายหวน หอมฟุ้ง ทายาทลิเกชื่อดังผู้หลงใหลในวัธนธัมศิวิไล ภายใต้โทนเรื่องที่มีความชวนหัว มีความท้าทายเพราะใช้จังหวะการแสดงที่แปลกไปจากที่เคยใช้ในงานก่อนๆ และด้วยความที่เขาเป็นลิเกแสนซื่อทว่าเสน่ห์พราว เราก็ต้องทำได้ให้อย่างที่เขาเป็น อันนี้เป็นส่วนที่ยากครับ นายหวนเป็นตัวละครที่น่าสนุก เพราะมิใช่เพียงแต่จะออกมาทำซื่อๆ เซ่อๆ เด๋อๆ ด๋าๆ แต่บทละครได้นำพาเขาไปสู่การเจริญเติบโตชนิดที่เมื่อนักแสดงอย่างผมได้มาเป็นเขาอยู่ทุกวันๆ ก็จะได้รับอานิสงส์จากคติคิดนี้ไปด้วย

ครูโอ๋ : เสน่ห์ของการแสดงละครร้องกับพี่ตั้วคือ การได้แสดงสิ่งที่เรียกว่า “ละครร้อง (sung drama) ไม่ใช่ “ละครเพลง” (musical play) แบบตะวันตก ได้ร้องเพลงที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากแม่สุดจิตต์ ดุริยประณีต ศิลปินแห่งชาติ แต่การฝึกซ้อมก็ไม่ใช่แบบละครร้องในอดีต เพราะมีระบบฝึกซ้อมที่ต้องมีการวอร์มเสียง การไล่โน้ตกับเครื่องดนตรีสากล การใช้ระบบคอรัสและการประสานเสียงแทนการใช้ลูกคู่ ซึ่งมีภาพการผสมผสานที่มีพัฒนาการและปรับเปลี่ยนเสมอ (ได้ร่วมแสดงละครร้องกับพี่ตั้วมา 5 เรื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ 2547) ทำให้ได้รับการฝึกฝนแนวทางการขับร้องแบบไทยที่มีกลิ่นอายแบบไทยร่วมสมัย

นอกจากนี้ก่อนที่จะเริ่มแสดงในแต่ละเรื่อง พี่ตั้วจะเล่าเรื่องในประวัติศาสตร์ที่เป็นแรงบันดาลใจในละครเรื่องต่างๆ ให้นักแสดงได้ทราบ ได้พูดคุย ได้อภิปราย และเห็นแง่มุมอื่นๆ ของบุคคลหรือประวัติศาสตร์ ที่อาจจะเหมือนหรือต่างกับที่เหล่านักแสดงได้เคยทราบมาก่อน และนักแสดงไม่ต้องเชื่อ แต่ต้องคิด ต้องตั้งคำถาม และทำความเข้าใจกับบทละครพร้อมกันไปกับการให้แนวทางและทิศทางในการกำกับการแสดง ซึ่งทำให้เหมือนได้อยู่ในห้องเรียนเชิงปฏิบัติการที่สนุกสนาน มีชีวิตและมีพลัง

ตัวละครในเรื่องคือ พันธนา โยธาคุณ มีแง่มุมที่น่าสนใจคือเป็นสตรีที่ค่อนข้างจะ “เปิ๊ดสะก๊าด” ในยุคนั้น แต่ก็ต้องนำเสนอแง่มุมให้คนอื่นเห็นว่าตนเองเป็นกุลสตรี เป็นผู้หญิงที่อยู่ใน “ระบบ” ใน “กรอบ” ใน “กรง” แต่ก็พร้อมจะแหวกม่านประเพณีออกมาบ้าง นอกจากนี้ยังมีความคิดเป็นตัวของตัวเอง มีความก้าวหน้า และอาจจะไม่เห็นด้วยและไม่เชื่อ (ทั้งหมด)ในสิ่งที่ตนเองต้องร้องเชิญชวนคนอื่นให้กระทำ แต่ก็มีใจเปิดกว้างที่จะเข้าใจในความเปลี่ยนแปลง และเห็นว่าความเพ้อฝันเป็นส่วนหนึ่งของความกล้าในการจะสร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม

ตอนนี้คนไทย "ความรัก" ของคนไทยเตลิด ไปถึงไหนแล้วฮะ...

บิทเติ้ล : ผมคิดว่าความรักของคนไทยยังไม่เตลิดแล่นลี้ลับดับสูญไปไหน แค่บางทีเราเอาสิ่งสมมติมาเป็นกรอบกั้นปันจำพวก เหมารวมกันอย่าลวกๆ จนลืมเห็นว่าคนเป็นคน ท่ามกลางวิกฤตการณ์สับสน คนก็ยังเป็นคน และมีความรักอยู่ในใจของคนอยู่เสมอ ถ้าได้ออกมาเจอกันจริงๆ ไม่อิงกรอบ รับฟังกันอย่างรอบคอบ ก็อาจจะทำให้รักเตลิดออกมาจากใจสู่ใจของกันและกันได้

ครูโอ๋ : ความรักของคนไทยไม่เคยเตลิดไปไหน แต่อาจจะมีคุณภาพและปริมาณที่แตกต่างกันไป มีความหลากหลายไปตามบริบทและสถานการณ์ ซึ่งเมื่อรักได้หลากหลาย ก็ควรจะเชื่อในความหลากหลาย และพร้อมจะยอมรับในความรักที่แตกต่างหลากหลายของคนอื่น ก็จะทำให้ความ “เตลิด” กลายเป็นความ “เพริศแพร้ว”

อยากให้เชิญชวนมาชมละครร้องเรื่องนี้ครับ

บิทเติ้ล : เวทีละครเป็นพื้นที่หนึ่งที่ทำให้คนเราได้มาเจอกันตัวเป็นๆ ได้มาอยู่ในสถานมหรสพ มาขำขันขบคิดร่วมกัน สร้างสัมพันธ์ในฐานะคนกับคน ขอเรียนเชิญท่านผู้มีใจรัก เตลิดแล่นออกจากเคหาสถานของท่านมายังละครเวทีรักเตลิดกันเถิดครับ

ครูโอ๋ : พี่ตั้วเคยกล่าวไว้ว่าอนัตตาทำละครที่ใช้บริบทหรือเนื้อเรื่องในอดีตเพื่อสะท้อนให้เห็นภาพปัจจุบันหรือนำมาเป็นข้อคิดกับสังคมปัจจุบันได้ ไม่ใช่ย้อนอดีตและคร่ำครวญหาความงดงามของอดีตที่หาไม่ได้ในปัจจุบัน ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ทำให้ละครที่ดูโบราณและย้อนยุคกับล้ำสมัยมาก และทำให้เห็นว่าไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบัน ตัวละครต่างๆ ในเรื่องไม่ว่าจะเป็นพระเอกหรือนางเอกก็มีทั้งข้อดีและข้อบกพร่อง ซึ่งการนำเสนอเรื่องหนักๆ ผ่านรูปแบบการแสดงแบบประโลมโลกย์จึงเป็นความขัดแย้งที่ลงตัวและงดงามค่ะ

..........................................

Recent Posts

See All
  • Facebook
  • Instagram
bottom of page