top of page
  • Writer's pictureLadda Kongdach

Something Missing

เรื่อง อภิรักษ์ ชัยปัญหา

ภาพ Nutchanon Kie Kerdumpaeng

#SomethingMissing งานร่วมกันระหว่าง b floor ศิลปินไทย กับ Momggol ศิลปินเกาหลี งานฟิสิคัล เธียร์เตอร์ ที่มีภาพ เสียง สี มูฟเมนท์ ตัวบทหลากหลายที่มา intertext บอกเล่าเรื่องราวความรู้สึกของคนใต้โครงสร้างของชนชั้น การทำร้ายกันเอง การสูญเสีย การจดจำบันทึก และการถูกลืมเลือน... ศิลปินตั้งคำถามว่า ก็เพราะบางสิ่งที่หายไปนั่นแหละที่ทำให้มันยังคงวงจรเช่นนี้เรื่อยไป... ฉันพูดได้ไหม... ฉันมีสิทธิ์พูดไหม ศิลปินย้อนไปตั้งแต่คำสอนทางศาสนา ตำนาน การอยู่ในเกม the killer ที่เอาจริงๆ คือ เทพมอบอาวุธให้หนึ่งในพวกเขาจัดการกันเอง ทั้งๆที่เขาเคยเป็น "เพื่อนกัน" และเอาจริงๆพวกเขาบางคนก็ไม่ได้ "ตั้งใจ" ทำเช่นนั้น ในส่วนนี้การยืมตัวบทวรรณกรรมเอกหลายเรื่องมาเล่นก็ทำให้เกิดความหมายทับซ้อนและชวนให้คิดต่อได้อย่างน่าสนใจ ไบเบิ้ล รามเกียรติ แฮมเลต the crucible นิทานท้องถิ่นเกาหลี ฯลฯ งานชิ้นนี้เลือกใช้ "สีแดง" เป็นสี theme ทำให้นึกประหวัดไปถึงร่องรอยประวัติการเสียเลือดเสียเนื้อของเหล่า "ปีศาจ" (หรือคนที่ตั้งคำถามกับระบบเก่าจนถูกมองว่าเป็นปีศาจ) ที่ตั้งคำถามกับระบบบนสุดและถูกระบบเซ็นเซอร์จัดการหายกลายเป็นเงาร่างสีแดงที่พล่าเลือนให้คนเดินชมและแสดงความสดุดีในพิธีกรรมที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยไม่รู้ถึงแก่น แม้เป็นเรื่องไม่ใหม่แล้ว และเราก็เห็นกันบ่อยๆ แต่ด้วยกลวิธีการนำเสนอแบบตลกร้าย พละกำลังของนักแสดง ก็ทำให้เรื่องนี้ดูผ่อนคลายท่าทีไปจากงานชิ้นก่อนๆ โดยเฉพาะของพี่คาเงะ ที่เราเคยดูมา แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นงานร่วมกันระหว่างศิลปินสองชาติ มันก็ช่วยขยายพรมแดนว่าเรื่องแบบนี้ก็ปรากฏในทุกๆ ที แล้วพอที่เกาหลีใต้เลือกเปลี่ยนระบบมาแล้วและไทยยังอยู่ระบบเก่า มันทำให้เกิดการปะทะกันทาง "ตัวบท" ที่ติดตัวมากับศิลปินเช่นกัน สัญลักษณ์หลายอย่างในงานชิ้นนี้ยังคงสื่อสารได้อย่างตรงเป้า แม้บางอย่างเราจะรู้สึกว่าตรงจังไปนิดก็ตาม เอาเหอะ ถึงเราจะรู้สึกว่าเริ่มไม่อินกับเรื่องและประเด็นเหล่านี้แล้ว แต่เมื่อมองออกไปรอบตัว ก็ยังพบว่าอ้าว มันยังทันสมัยอยู่นี่หว่า ขนาดเสนีย์ เสาวพงศ์ ประกาศเจตนาไว้ในวรรณกรรมเรื่องปีศาจมาตั้งนานแล้ว ในปี 2496 สังคมตอนนี้ก็ยังขับเคลื่อนได้ไม่มากนักอยู่ดี ต่างกันตรงที่ว่าในวรรณกรรมยุคนั้นตัวละครคู่ตรงข้ามออกมาแสดงตัวซึ่งๆหน้า แต่ในสังคมจริงทุกยุคจะมีการเล่นซ่อนแอบความรุนแรงอยู่ในระบบโครงสร้างที่เราต่างเข็นกันต่อไปก็ตาม... บางทีถ้าเราเจอสิ่งที่หายไป แล้วทวงคืนหรือสร้างวัฒนธรรมใหม่มาแทนที่ เราอาจมองกระดาษที่บันทึกประวัติศาสตร์ไปอีกแบบหนึ่ง...ที่ไม่ใช่แค่อะไรสักอย่างที่ไกลตัวจนรู้สึกเหมือนเรื่องแต่ง และมีค่าเพียงแค่กระดาษเช็ดตูดตอนที่จะไปเข้าห้องน้ำแล้วไม่มีกระทิชชู่แบบนี้ บางทีตัวบทแรกที่พูดของสองตัวละครพูดกัน ตอนที่แย่งจักรยานกันว่า ไม่เป็นไรนะ... ไม่เป็นไรเหี้ยอะไรล่ะ นั่นอาจเป็นสิ่งที่ศิลปินพยายามส่งสารมายังเราก็ได้... อย่าชิน อย่าไม่เป็นไร เพราะว่าจริงๆ "มันเป็น" .................. การกำกับร่วมของ Jongyeon Yoon และธีระวัฒน์ มุลวิไล บันทึกการชม รอบ 17/12/60 รอบ 19.30 น. BACC 

  • Facebook
  • Instagram
bottom of page