top of page
  • วิชญ์พล  ดิลกสัมพันธ์

Unidentified : กระป๋องเบียร์ ค่าไฟ และการจากไปที่ไม่กล้าเผชิญ

เรื่องและภาพ วิชญ์พล ดิลกสัมพันธ์

"ถ้าเราตาย อยากให้งานเราเป็นแบบไหน" เราเคยมีบทสนทนาแบบนี้กับคนที่อยู่ข้างเราบ่อยๆ เคยจินตนาการถึงงานที่ตัวเองไม่มีวันได้เห็น และฝากฝังให้ใครก็ตามช่วยทำแทนให้ เคยคุยกันถึงวันที่ใครคนใดคนหนึ่งหายไปตลอดกาล จินตนาการถึงวันที่ไม่มีอีกฝ่ายแล้ว มันก็มักจะกลับไปสู่คำตอบเดิมๆว่า "เรายังไม่พร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งนั้น" เพราะเราไม่กล้าฟันธงว่าตัวเองจะรับไหวรึเปล่า . ความรู้สึกแบบนั้นมันปรากฏให้เห็นในงานชิ้นนี้ของทัศกร สีปวน (จั๊ม) ไม่ว่าตัวละครจะพูดเรื่องความตายมากเท่าไหร่ มันก็รู้สึกเหมือนกับว่าพวกเขาทำใจยอมรับมันไม่ได้เลย ไม่ว่าจะพยายามทำเป็นไม่ยี่หระแค่ไหนก็ตาม สุดท้ายเราก็ดีลกับสภาวะนั้นไม่ได้แบบเต็มร้อย ถึงต้องมานั่งคุยนั่งถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้น วนเวียนกันไปแบบนี้จนกว่าเวลานั้นจะมาถึง . เรารู้สึกว่าตัวละครมีความไม่สื่อสารกัน มันรู้สึกเหมือนดีลกันเองยังไม่ได้เลย อันนี้ไม่รู้ว่าจงใจมั้ยแต่มันก็เข้ากับความรู้สึกเวลาได้ดูเรื่องนี้ว่าเราดีลกับความตายไม่ได้ ดีลกับสภาวะที่ใครบางคนหายไปไม่ได้ เราคิดเอาว่าตัวละครคงจะรู้สึกกับการตายอย่างกระทันหันของเพื่อนมากๆ ไม่อย่างนั้นคงไม่มานั่งกินเบียร์และตั้งวงถกกันเรื่องความตายเป็นวรรคเป็นเวรขนาดนี้ จริงๆแล้วสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่สถานการณ์หรือเรื่องราว แต่อยู่ที่สภาวะของตัวละครสองตัวนี้มากกว่า ดูๆไปเหมือนสองคนนี้จะติดอยู่กับห้องๆนี้และไปไหนไม่ได้จนกระทั่งตายไปมากกว่า . ที่เรามองไปต่างๆนานา อาจเป็นเพราะสไตล์การเล่าที่แตกต่างจากบทสนทนาปกติ เรารู้สึกเหมือนมันเป็นคำถามที่สะท้อนไปมาระหว่างตัวละครและคนดู สรรพนามที่เรียกกันว่า "คุณ" มันหมายถึงตัวเราที่เป็นผู้ชมไปด้วย บทพูดที่เหมือนจะปะติดปะต่อ แต่ก็เหมือนวลีที่ลอยในอากาศด้วย มันทำให้ความคิดและการตีความขยายออกไปไกลขึ้น ไกลกว่าเรื่อง "ความตาย" แบบรูปธรรม ชอบประโยคหนึ่งที่บอกว่า "ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลง ก็เหมือนกับเราตายไปแล้วรึเปล่า" มันสะท้อนให้เห็นภาพรวมของเรื่องที่คนที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันสองคน ไม่มีเงิน และใช้ชีวิตไปเรื่อยๆไม่มีจุดหมาย และติดอยู่ในห้องจนกระทั่งตายไป... รึเปล่านะ . ยังไงก็ตาม ยังมีความรู้สึกขัดอยู่บ้างเรื่องมูฟเม้นท์ที่มันไม่มีอะไรนอกจากการขยายคำพูดที่พูดออกมา เลยรู้สึกว่ามันไม่คุ้ม ไม่จำเป็นต้องมูฟก็ได้ บางทีมันก็ดูประดิษฐ์มากเกินไปจนมันขัดกับภาพรวม แล้วก็ตัวบทที่ไม่ปะติดปะต่อ แต่หัวข้อที่เลือกมาพูดในบทมันมีความซ้ำกันเยอะ และบางทีก็หลุดออกไปจากหัวเรื่องอื่นๆ เลยทำให้มันดูยึกยักและไม่แน่ใจว่าคนสร้างงาน "คิดอะไรกันแน่" ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่จั้มไม่อยากให้คนดูรู้ แต่ระหว่างดูมันก็ทำให้เราชิ่งออกจากเรื่องเหมือนกัน จนรู้สึกว่าการแสดงนานเกินไป ส่วนตัวเรารู้สึกว่าจั้มอาจจะให้เวลาในส่วนของนักแสดงน้อยไปหน่อย เพราะมองเห็นความเนี้ยบขององค์ประกอบอื่นๆมากกว่าเมื่อเทียบกับตัวละครและนักแสดง . เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า "เซ็กส์มักเป็นกิจกรรมที่ใช้ต่อสู่กับความเศร้าจากการสูญเสีย" เพราะมันให้ทั้งความสุขและมีนัยของการให้กำเนิดด้วย ในหนังสือเรื่อง Norwegian Wood ก็มีประเด็นนี้ให้เห็น รวมทั้งละครเรื่องนี้ด้วย ยิ่งมองเห็นแรงปรารถนาและความดิบมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้สึกว่ามันเป็นเหมือนพยายามจะจมดิ่งลึกลงไปเพื่อหนีความรู้สึกว่างเปล่าเคว้งคว้างที่ห่อหุ้มตัวเราหลังจากปะทะกับความสูญเสียมากขึ้นเท่านั้น . พอดูละครเรื่องนี้จบก็รู้สึกว่า สุดท้ายแล้วถ้าเราลดความยุ่งยากซับซ้อนของชีวิตลง เราอาจจะสามารถเผชิญหน้ากับความตายได้ในสักวัน ซึ่งแน่นอนว่ามันต้องใช้เวลาในการใช้ชีวิตและระลึกรู้เสมอว่าความตายมาหาเราได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าคุณจะมีท่าทีกับมันอย่างไรก็ตาม มันก็จะอยู่ตรงนั้นเพื่อทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่าในทุกๆวันนั่นเอง

ละครยังมีเล่นจนถึงวันที่ 6 ส.ค. ที่ห้องบีฟลอร์ สถาบันปรีดี รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่

  • Facebook
  • Instagram
bottom of page