top of page
  • ศุภวัฒน์ หงษา (มหาทิว)

Boy o' Mine เด็กน้อยของฉัน

Boy o' Mine เด็กน้อยของฉัน

เรื่องรักหญิงหญิง,ปลาการ์ตูนและพุทธะ โดย ศุภวัฒน์ หงษา (มหาทิว ภาพจากกลุ่มละคร8x8

.

Boy o' Mine ละครเวทีเรื่องล่าสุดจากคณะละคร 8x8

โดยฝีมือบทและกำกับการแสดงของศิลปินศิลปาธร นิกร แซ่ตั้ง

ยังคงความน่าสนใจในแนวทางการหยิบยกเรื่องศาสนาหรือความเชื่อของกลุ่มคนมาเป็นสารตั้งต้นในการเล่าเรื่อง อย่างที่เราเคยได้เห็นจาก พระเจ้าเซ็ง, เกิด-ดับ และสวยสู่นรก

สำหรับเรื่องนี้ส่วนตัวรู้สึกว่าพาคนดูไปไกลกว่าเรื่องไหนๆ

จากหน้าหนังที่นำเสนอเหมือนจะเป็นละครที่พูดเรื่องความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศ ไม่ต่างจากที่มีให้เห็นมากมายในยุคนี้ แต่ Boy o' Mine แตกต่างที่ไม่หยุดตัวเองอยู่แค่การเรียกร้อง ให้เข้าใจ เห็นใจ ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย อันเป็นสารสำคัญที่มักถูกย้ำถึงบ่อยๆในงานแนวนี้เรื่องอื่นๆที่เคยได้ชม แต่Boy o' Mine ใช้ความหลากหลายทางเพศมาเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อและคุณค่าแท้จริงของการมีอยู่ของชีวิตมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สากลและไร้เพศ

ละครเริ่มด้วยการตั้งคำถามถึงหน้าที่ของ "เพศ" ที่ธรรมชาติกำหนดให้มีเพื่อการดำรงรักษาเผ่าพันธุ์ ผ่านสัตว์หลายชนิดเช่น ปลาการ์ตูนที่สามารถเปลี่ยนเพศตนไปมาเมื่อมีความจำเป็นเพื่อที่จะได้สืบพันธุ์ได้ เพราะมันคือหลักประกันการมีอยู่ของเผ่าพันธุ์ ทว่าเมื่อนำมาเทียบกับความหลากเลื่อนทางเพศของมนุษย์ที่เชื่อว่าเป็นสปีชีส์ที่สูงกว่ามันกลับไปสามารถมีฟังชั่นได้อย่างเดียวกันกับสัตว์เหล่านั้น ตรงนี้เหมือนยั่วล้อให้คิดก่อนว่าหรือความหลากเลื่อนทางเพศของมนุษย์ไม่ได้มีประโยชน์แท้จริงนอกจากเพื่อความพึงใจ

ก่อนที่ละครจะพาไปสำรวจชีวิตของคู่รักหญิงหญิงคู่หนึ่งที่ฝ่ายหนึ่งเกิดท้องขึ้นมาทั้งที่เธอยืนยันว่าไม่ได้ไปมีความสัมพันธ์กับชายใด เธอทั้งคู่ต้องเผชิญกับกระแสสังคมมากมายที่สุดโต่งทั้งในด้านเหยียดหยาม ไปจนถึงเห็นเธอเป็นดั่งแม่พระผู้อุ้มครรภ์ทารกพิสุทธ์ เพราะทุกคนคนพร้อมจะเชื่อในแนวทางที่จะเติมเต็มความพร่องของตน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ค่อยๆสั่นคลอนความสัมพันธ์ของเธอทั้งคู่

ก่อนที่ละครจะพาไปไกลอีกขั้นด้วยการเล่าเรื่องความวุ่นวายในชีวิตของตัวละครหลักขนานไปกับเหตุการณ์ในชีวิตของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่อดีตชาติจนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะและเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งตรงนี้ยอมรับเลยว่าอึ้งและใช้เวลาพอสมควรกว่าที่จะเข้าใจความเป็นเนื้อเดียวกันของทุกสิ่งที่ผู้เขียนบทและกำกับเลือกมา

กล่าวคือ ทั้งหมดเป็นการสะกิดให้ตั้งคำถามว่าความหมายที่แท้ของการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ว่ามีอยู่เพียงเพื่อการผลิตทายาทสายเลือดเพื่อดำรงเผ่าพันธ์เท่านั้นหรือ แม้เพศอันหลากเลื่อนของมนุษย์ไม่มีฟังชั่นช่วยการขยายพันธุ์อย่างปลาการ์ตูน แต่มนุษย์มีความสามารถที่จะมีความรัก ซึ่งความรักเป็นสิ่งที่ไม่มีเพศ และเป็นเครื่องมือที่ทำให้มนุษย์สร้างคุณค่าให้แก่กันและกันได้ มีประโยชน์ต่อเผ่าพันธุ์ของตนได้โดยไม่ต้องอาศัยเพศ ไม่ต่างอะไรกับการที่เจ้าชายสิทธัตถะที่ก็เปลี่ยนตนสู่ "สมณเพศ" ซึ่งเท่ากับสูญสิ้นฟังชั่นในการให้กำเนิดแล้วเช่นกัน แต่พระองค์ก็ยังทรงสามารถมีชีวิตเพื่อประโยชน์ของของเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้ด้วยการบำเพ็ญเพียรจนพบและนำธรรมะมาสู่ผู้คน ซึ่งธรรมะก็ไม่ต่างอะไรจากความรักที่จะทำให้มนุษย์ไม่ทำร้ายและทำลายล้างกันเพราะความแตกต่าง ไม่ให้ความสำคัญถึงที่มาเท่ากับเราจะช่วยกันสร้างให้สิ่งทั้งหลายดีขึ้นได้อย่างไร

ตรงนี้เองที่ทำให้รู้สึกว่าละครที่ว่าด้วยศาสนาและความเชื่อของ 8x8 เรื่องนี้ต่างจากเรื่องก่อนๆจากที่เน้นในการตั้งคำถามให้ขบคิด ตรงที่แอบมีคำตอบอยู่ลึกๆแฝงอยู่ในทีท่าที่ยังคงความเรียบง่าย เป็นเหมือนภาพสะท้อนความตกผลึกของผู้สร้างที่ลุ่มลึกยิ่งขึ้น ที่จะพูดเรื่องราวชวนขัดแย้งแต่พาให้ผู้เสพเข้าใกล้ความรักและความสงบทางใจได้มากขึ้น

Boy o' Mine เด็กน้อยของฉัน

แสดงที่ Creative Industries ชั้น2 M Theatre ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เหลืออีก 6 รอบการแสดง พฤหัสที่ 27 รอบ 20.00 น. ศุกร์ที่ 28 รอบ 20.00 น. เสาร์ที่ 29 รอบ 14.00 น. และ รอบ 20.00 น. อาทิตย์ที่ 30 รอบ 20.00 น. จันทร์ที่ 31 รอบ 20.00 น. ความยาวการแสดง 70 นาที บัตรราคา 500 บาท นักศึกษา (ราคาโอนเมื่อจอง 400 ซื้อหน้างาน 500) จองบัตร 0897625521

โอนเงินสำรองที่นั่ง Sakchai Kiatpanyaophat Kbank 702-2-40120-8 หรือ BBL 124-4-26503-7

357 views0 comments
  • Facebook
  • Instagram
bottom of page