top of page
  • นิกร แซ่ตั้ง

Chrono o'Clock

Chrono o'Clock เป็นโครงการรวมละครเวทีห้าเรื่องสั้น ของคนทำละครรุ่นใหม่ไฟแรง ดูแลโดย ธนพนธ์ อัคควทัญญู มีผู้กำกับและเขียนบทหกคน จากต่างค่ายต่างสถาบัน มาทำงานรวมกันอยู่ใน พื้นที่ของศิลปะแห่งใหม่ Syrup The Space สุดซอยทองหล่อ

เปิดการแสดงเรื่องแรกเป็นผลงานของ ณพิม สิงห์โตโรจน์ (บิว) เป็นเรื่องเล่าที่ตัดสลับไปมาระหว่างความจริงกับนิทานเรื่องเล่าในละคร โดดเด่นมากในเรื่องงานออกแบบดีไซน์และการใช้พื้นที่ในการแสดง การตัดสลับไปมา เพื่อขัดอารมณ์คนดูไม่ให้หลงคล้อยตามจนลืมฉุกคิดว่านี่คือละครนะ นักแสดงสามคนรับผิดชอบหน้าที่บทบาทได้ดี และมีพลัง ประเด็นที่อยากพูดอยากบอกก็ซ่อนบ้าง บอกตรงๆบ้าง โดยรวมทำให้ชวนติดตามและตื่นตาตื่นใจ มากจนอยากดูเรื่องต่อๆไป

เรื่องที่สอง คนดูถูกพาออกมาที่ลานกลางตึก เป็นงานของ ธาริน ปริญญาคณิต เนื้อหาเกี่ยวกับเครื่องจักรที่มีชีวิตจิตใจกับคนงานที่กำลังจะสูญเสียความเป็นมนุษย์ไป การเลือกใช้พื้นที่เปิดกับเนื้อหาที่ต้องการบอก เหมาะสมกันดี นักแสดงสามคนก็ทำงานหนักหน่อยเพราะต้องจัดการกับ spaceและเสียงก้อง แต่โดยรวมก็ยังเอาอยู่

ชิ้นต่อมาผลงานของ วิชญ์ แสนอาจหาญ ที่พูดถึงตัวละครที่จมจ่อมอยู่ในโลกแห่งความทุกข์ระทมของตัวเอง ที่น่าสนใจและกินใจผมมากน่าจะเป็นจุดที่ตัวเอกพยายามจะเชื่อมโยงโลกของตนเข้าด้วยกัน แต่นั่นมันก็เป็นเพียงความพยายาม ทุกคนต่างมีบาดแผลที่ไม่อาจเยียวยาได้ของตนเอง เป็นอีกเรื่องที่ วิธีเล่าเรื่องและกลวิธีนำเสนอ พาคนดูให้คิดเชื่อมโยงและรู้สึกเอาเอง จากประสบการณ์ของใครของมัน โดยส่วนตัวผมคิดว่าซีนสุดท้ายสามารถกระชับได้กว่านี้ หรือตัดจบไปเลย แต่ผู้กำกับเขาเลือกแล้วว่าจะต้องทำอย่างนี้เราก็ได้แต่เข้าใจ

ต่อมาเป็นงานแสดงเดี่ยว ของ ปัถวี เทพไกรวัล โดยมีเพื่อน ปฎิพล อัศวมหาหงษ์ มาช่วยกำกับ การแสดงแนว คาบาเร่ต์ เล่นหัวหยอกล้อกับคนดู และผูกเอาเรื่องราวที่เกี่ยวกับ ผู้หญิงชะตากรรมรันทด ป่วยๆ ทั้งหลายเอาไว้ในตัวเอง อย่างแพนโดร่า นอร์ม่าเดส มอน หรือ เลดี้แมคเบท กลับสร้างเสียงหัวเราะใให้คนดูได้ตลอด ทั้งๆที่ตัวละครน่าสงสารจะตาย ขำไปก็ถอนใจไป สนุกเพลินๆ ก็จบ

เรื่องสุดท้ายคล้ายจะเป็น performance มากกว่าละคร ผลงานของ ธงชัย พิมาพันธู์ศรี นักแสดงสองคน หนุ่มสูงโย่งกับ สาวเปี๊ยกฉบับกระเป๋า มาทำนั่นโน่นนี่ ตามความเชื่อที่ว่า ถ้าอยากเก่งให้ฝึกฝนทุกวัน ทำซ้ำๆๆๆ ไป มันช่างโดนใจผมเสียจริง ในขณะเดียวกัน ก็อดสะท้อนใจไม่ได้ คือ คนไทยขาดความคิดมุ่งมั่นจริงจังจะทำอะไรอย่างทุ่มเท สุดพลังสุดชีวิต มักจะเลิกกลางคันหรือไม่ก็ แค่นี้ก็พอแล้ว อย่าซีเรียส หรือ ไม่ยอมริเริ่มอะไรเพราะกลัวล้มเหลว การที่สองคนนี้ทำทุกอย่างเต็มที่ในแบบของเขาจึงโดนใจผมมาก อีกประเด็นคือ ในขณะที่หลายคนหลงทางแล้วก็ทำไปอย่างนั้น หรือไม่ก็ พยายามแสวงหาทำไปเรื่อยๆ จับจด เปลี่ยนไปมาตลอดเวลา จนไม่ได้ดีสักอย่าง หรือ หลงคิดไปว่าทำแล้วจะดี ทุ่มเททำไปชั่วชีวิตแล้วก็ไปไม่ถึงไหน อันหลังที่น่าเศร้ามาก ดูแล้วน้ำตาจะไหล

โดยรวมของงานนี้ ผมอยากจะป่าวประกาศให้คนในบ้านนี้เมืองนี้รู้ว่า "คุณครับ เรามีคนทำละครเวทีรุ่นใหม่ๆ เจ๋งๆ แล้วนะ ขนาดไม่มีการสนับสนุนจากรัฐเลยเขาก็ยังสร้างผลงานออกมาจนได้นะ ระบบการศึกษาที่มีการเรียนการสอนละครในมหาวิทยาลัยไม่สูญเปล่าแล้วนะ เพราะฉะนั้น มาดูกันเถอะ ไม่ได้บอกว่ามาช่วยสนับสนุนน้องๆเขา เพราะสงสารหรือกลัวน้องเขาจะเลิกทำ แต่จะบอกว่า งานของพวกเขาดีจริงๆ ถ้าไม่มาดู คุณจะพลาดแล้วบ่นเสียดาย แล้วถ้าน้องเขาเลิกทำละครไปจริงๆ คุณต่างหากจะรู้สึกผิด"

38 views0 comments
  • Facebook
  • Instagram
bottom of page