top of page
  • Writer's pictureLadda Kongdach

ลิเกอภิวัฒน์ ชื่อ ประดิษฐ ประสาททอง

คนเมืองที่ใช้ชีวิตใกล้ชิดกับงานศิลปวัฒนธรรมหรือเปิดรับข่าวสารทางนี้บ้างคงคุ้นชื่อวงดนตรี พาราไดซ์บางกอก และ รัสมี เวระนะ หรือ รัสมี อีสานโซล เป็นอย่างดีในฐานะศิลปินที่ทำให้ศิลปะพื้นบ้านอย่างหมอลำได้ออกไปเผยแพร่ยังประเทศต่างๆ แต่หากย้อนกลับไปเมื่อปีพ.ศ. 2540 - 2550 ชื่อหนึ่งที่ทุกคนจะต้องรู้จักในฐานะศิลปินผู้เอาศิลปะพื้นบ้านของไทยไปเผยแพร่ในระดับนานาชาติ นั่นคือ ประดิษฐ ประสาททอง ผู้ได้สมญาว่า ‘ลิเกอภิวัฒน์’

หลังจากที่ห่างหายจากการสร้างผลงานลิเกเต็มรูปแบบไปเป็นเวลา 7 ปี คุณตั้ว ประดิษฐ ประสาททอง ได้กลับมาสร้างผลงานลิเกชิ้นใหม่อีกครั้งในชื่อ ‘เล่นลิเก play of my life’ ซึ่งไปเปิดการแสดงครั้งแรกไปแล้วที่ The Performing Arts Market 2017 เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และผู้ชมชาวไทยจะได้รับชมกันในเทศกาลศิลปะการแสดง Bangkok Theatre Festival Asia Focus ในวันที่ 26 – 28 พฤษภาคมนี้ เราได้รับเกียรติจากคุณตั้ว ให้เข้าสัมภาษณ์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมที่ไม่เคยรู้จักผลงานของคุณตั้ว ได้รู้จักกับลิเกในแบบของประดิษฐ ประสาททองมากขึ้น

(รายละเอียดการแสดง และการสำรองบัตร คลิกที่นี่)

ขอบคุณภาพประกอบจาก คุณประดิษฐ ประสาททอง

ลิเกดูเหมือนจะเป็นการแสดงที่อยู่ห่างไกลจากชีวิตคนกรุงเทพในสมัยนี้มากเลย คุณตั้วก็โตขึ้นมาที่กรุงเทพ เล่าเรื่องราวความผูกผันระหว่างคุณตั้วกับศิลปะพื้นบ้านแขนงนี้ให้ฟังหน่อยสิครับ

สมัยเด็กๆ ผมอยู่บางยี่ขัน จำได้ว่าวันหนึ่งพ่อพายเรือพาไปเที่ยวงานวัด ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ได้ดูลิเก สมัยนั้นลิเกยังไม่มีชุดที่ประดับเพชรหรูหรา นางเอกใช้ดอกไม้ประดับชุด ไม่ใช่เครื่องเพชรแบบสมัยนี้ จำได้ลางๆ ว่าผมอินมาก พอถึงฉากที่ตัวร้ายจะปล้ำนางเอก ผมก็ลุกเอาของขว้างใส่ตัวโกง จะช่วยนางเอก ประทับใจจนกลับมาบ้านก็เอาหนังสือพิมพ์มาทำอุปกรณ์การแสดง ทำเสื้อผ้า เล่นลิเกอยู่คนเดียว บางทีก็ไปเกณฑ์เพื่อนๆ แถวบ้านมาเล่นเป็นตัวประกอบ เอามุ้งไปขึงเป็นฉากลิเก เวลาโรงลิเกแถวบ้านว่าง ก็จะแอบขึ้นไปเล่นเป็นพระเอกอยู่บนนั้น ผมเชื่อว่าเด็กทุกคนเคยมีความฝันแบบนี้ แต่ผมไม่เลิก พอเข้าเรียนชั้นประถมผมไปยึดห้องเก็บของแคบๆ ในโรงเรียนมาทำสตูดิโอ ไปรื้อเอาของที่เขาไม่ใช้มาทำฉากละคร ต่อสายไฟ ต่อหลอดไฟเอง เอาโต๊ะเรียนมามัดขาติดกันเป็นเวที แล้วก็เล่นซ้อมละครของตัวเอง ตอนนั้นเวลามีงานโรงเรียน ผมไม่เคยได้รับเลือกให้ไปแสดงบนเวทีโรงเรียนเลย เพราะที่บ้านผมไม่มีเงินตัดเสื้อผ้าสวยๆ ให้ใส่ไปแสดง แต่ผมอยากแสดงละคร ผมก็เลยจัดแสดงขึ้นเอง ให้เพื่อนๆ น้องๆ มาช่วยเล่น ขอร้องบ้าง บังคับบ้าง แล้วก็ไปขออนุญาต ผ.อ. เพื่อจัดแสดงในวันงานประจำปีโรงเรียน เวทีใหญ่ของโรงเรียนก็แสดงไป ผมก็แสดงของผมไป ตอนนั้นทุกอย่างผิดพลาดไปหมด ฉากที่ทำไว้พังลงมา เพื่อนนักแสดงจำบทไม่ได้ บางคนก็อายจนไม่กล้าออกมาเล่น แต่จำได้ว่าสนุกมาก ทั้งๆ ที่มีความผิดพลาดเกิดขึ้นเต็มไปหมด แต่คนดูก็พากันหัวเราะชอบใจ ตอนนั้นทำให้ผมรู้สึกว่าทำไมโลกของการเล่นละครมันสนุกขนาดนี้ พอเข้าเรียนระดับมัธยม ก็ยังทำกิจกรรมการแสดง จนถึงมหาวิทยาลัยก็ยังทำอยู่ จนเรียนจบผมก็คิดแค่ว่าผมอยากทำอาชีพทางด้านการแสดง อาชีพอะไรก็ได้ที่ได้ทำงานเกี่ยวกับการแสดงผมเอาหมด ไม่ได้คิดถึงเรื่องรายได้ด้วยซ้ำ

แสดงว่าคุณตั้วฝึกลิเกมาตั้งแต่เป็นเด็ก

ไม่ครับ ตอนเรียนมัธยมผมก็เริ่มห่างจากลิเกไปเรื่อยๆ แล้วใกล้ชิดกับการแสดงแบบราชสำนักมากขึ้น ความชื่นชอบ ความประทับใจในศิลปะพื้นบ้านแขนงนี้ไม่ได้ลดลงไปนะ แต่ผมไม่ได้คิดจะทำงานเกี่ยวกับมันอย่างจริงจัง จนปี พ.ศ. 2539 ที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้ทำเพราะผมเชื่อว่า ‘ลิเกมันยิ่งใหญ่เกินกว่าความสามารถของผม’ ลิเกมันต้องทั้งร้อง ทำรำ ต้องทำเครื่องแต่งตัวให้งามให้มีเสน่ห์ ต้องประชันความสามารถกับศิลปินลิเกคนอื่น ต้องทำงานร่วมกับวงปี่พาทย์ มันเป็นศิลปะที่ต้องทั้งใช้ทักษะและเงินจำนวนมาก

ขอบคุณภาพประกอบจาก คุณประดิษฐ ประสาททอง

แล้วคุณตั้วพัฒนาทักษะทางการแสดงยังไงครับ

สมัยเรียนมัธยมนอกจากจะเรียนศิลปะการแสดงพวกนาฏศิลป์ไทย ดนตรีไทย การร้องเพลงไทยในโรงเรียนแล้ว หลังเลิกเรียนผมก็ไปปีนกำแพงวิทยาลัยนาฏศิลป์แอบดูเขาเรียนกัน จดบันทึกบ้าง จำเอาบ้าง แล้วก็มาฝึกเอง สงสัยตรงไหนก็กลับไปถามครูในวิทยาลัยนาฏศิลป์ที่ผมแอบดูนั่นแหละ ว่าแอบดูมาเป็นแบบนี้ รำถูกไหม เข้าใจถูกไหม พอครูท่านเห็นไอ้เด็กนี่มันใฝ่รู้ ท่านก็เมตตาสอนให้ ฝึกฝนแบบนี้แหละ

พอเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลับ ผมสอบเข้าคณะทางศิลปะการแสดงไม่ติด เพราะตอนเรียนผมเอาไม่สนใจเรียนในห้องเรียนเท่าไหร่ เพราะเอาเวลาไปอยู่กับกิจกรรมละครของผมนั่นแหละ ตอนอยู่มหาวิทยาลัย เลยใช้วิธีฝึกด้วยตัวเอง แล้วก็ไปเรียนจากคนโน้นคนนี้ที่เปิดเขาสอนเอา ฝึกโขน ดนตรีไทย ขับร้องเพลงไทย การแสดงพื้นบ้าน ละครแบบฝรั่ง งิ้วก็เรียน เรียนการแสดงทุกอย่างที่มีโอกาส ทำแบบนี้มาตลอด

แล้วปีพ.ศ. 2539 เกิดอะไรขึ้นที่ทำให้คุณตั้วตัดสินใจแสดงลิเก

อาจารย์หน่อง อานันท์ นาคคง มาชวนผมไปเล่นลิเกในสมัชชาคนจน ตอนแรกผมปฏิเสธว่ามันเป็นไปไม่ได้เพราะมันต้องเตรียมการเยอะมาก แต่อาจารย์หน่องก็ยืนยันว่ามันเป็นไปได้ เอาสิ่งที่พวกเรามีนี่แหละ ผมเลยตัดสินใจลองดู พวกเราใช้เวลาเตรียมการอยู่คืนเดียว อาจารย์หน่องเอาระนาดไปตี พาลูกศิษย์ไปตีกลองหนึ่งคน ส่วนผมก็เอาชุดละครแบบฝรั่งเท่าที่ผมมีนี่แหละ แต่งๆ แล้วก็ไปแสดง ผลปรากฎว่าผู้ชมชอบกันมาก ผมถึงว่ารู้สึกได้ว่า ลิเกนี่มันมีพลังในการเข้าถึงใจคนมาก ลิเกมันเป็นศิลปะที่ใช้ทุกอย่างที่อยู่ใกล้ตัวเราในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นเพลงลูกทุ่งที่ดังๆ หรือเรื่องราวที่กำลังเป็นที่สนใจของสังคม การแสดงครั้งนั้นเป็นการแสดงที่ทำให้ผมได้รู้สึกถึงศักยภาพของศิลปะแขนงนี้ หลังจากนั้นผมเลยตัดสินใจเข้าไปเรียนรู้การแสดงลิเกจริงๆ จังๆ กับคณะลิเก ไปร่วมแสดง ไปเรียนรู้ความเป็นลิเก ไปร่วมแสดงลิเกกับคณะลิเกจริงๆ ไปใช้ชีวิตเป็นลิเกจริงๆ

ขอบคุณภาพประกอบจาก คุณประดิษฐ ประสาททอง

ในช่วงเวลาก่อนที่คุณตั้วจะหันมาสร้างสรรค์ผลงานลิเก คุณตั้วก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแล้วในฐานะผู้กำกับละครเวทีที่มีผลงานไปแสดงในต่างประเทศมากมาย อย่าง ‘พิษฐานเอย’ (In between two world) จนผลงานชิ้นนั้นได้ถูกดัดแปลงให้มาเผยแพร่ทางโทรทัศน์ แล้วคุณตั้วเปิดตัวกับสังคมในฐานะศิลปินลิเกได้ยังไง

ต้องขอบคุณคุณเล็ก ภัทราวดี มีชูธน ที่ให้ผมมีโอกาสแสดงความสามารถลิเกในการแสดงชื่อ อิเหนา ที่ภัทราวดี เธียเตอร์ ในปี พ.ศ. 2542 จากการแสดงครั้งนี้แหละที่ทำให้ผู้จัดงานแสดงศิลปะในต่างประเทศได้เห็นผลงานลิเกของผม และเชิญผมออกไปแสดงในต่างประเทศ ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ความเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลลิเก มันเริ่มตรงจุดนี้

ทำไมชาวต่างชาติถึงตื่นเต้นกับลิเกครับ

คนต่างชาติก็มีทั้งตื่นเต้นกับลิเกมาก กับที่ไม่ชอบเลย ที่ชอบมากก็ชอบที่มันสวย รำสวย ชุดสวย ร้องก็เพราะ แถมยังมีความตลก ทั้งงามทั้งสนุก เรื่องที่เล่นก็เป็นเรื่องที่พวกผู้ชมรู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้วอย่างโรมิโอและจูเลียต หรือ อาคาโอนิ (ยักษ์ตัวแดง) แต่มันนำเสนอในรูปแบบที่แปลกใหม่ แถมยังสื่อสาร ปรับเปลี่ยนการแสดงกันแบบสดๆ เพื่อให้เกิดความใกล้ชิดกับคนดู ซึ่งพวกเขาไม่เคยสัมผัสประสบการณ์การดูการแสดงแบบนี้มาก่อน ส่วนคนที่ไม่ชอบจะเป็นเพราะเขาคาดหวังให้แสดงเรื่องราวที่ผมนำมาเล่นในแบบดั้งเดิมมากกว่า บางคนถึงขนาดไม่พอใจที่ในการแสดง ผมด้นสดออกนอกบทเพื่อคุยกับคนดู โดยปกติละครหรือการแสดงทั่วๆ ไปในต่างประเทศจะสร้างจากกระบวนการซ้อม ทดลอง และทบทวนผล แล้วกำหนดว่าจะแสดงยังไง แต่สำหรับลิเก ลิเกไม่ซ้อม ลิเกต้องอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะที่แสดง ตอนนั้น เรื่องเป็นแค่เรื่อง แต่รสที่เกิดขึ้นบนเวทีมันเป็นการปรุงร่วมกันระหว่างคนดูและคนเล่น เพราะฉะนั้นมันมีความเป็นได้อยู่นับไม่ถ้วนที่จะเกิดขึ้นบนเวที การแสดงรูปแบบนี้เป็นรูปแบบที่ค่อนข้างใหม่สำหรับต่างประเทศในสมัยนั้น

ขอบคุณภาพประกอบจาก คุณประดิษฐ ประสาททอง

ลิเก ประดิษฐ ประสาททอง ต่างจากลิเกทั่วไปยังไง

ผมเล่นลิเกแบบพื้นบ้านไม่เป็น คุณรู้ไหมว่าคนที่เป็นลิเกพื้นบ้านเขามีทักษะกลอน ทั้งทักษะการด้นสด ทั้งทักษะการโต้ตอบกับผู้ชมที่สูงมาก อย่างที่เล่าให้ฟัง ผมไม่เคยเรียนการแสดงเป็นหลักสูตร แต่ใช้วิธีเก็บอะไรได้เกี่ยวอะไรได้ก็เอามาฝึกฝนเอง แล้วก็ไปถาม ไปขอความรู้ครูคนนั้นครูคนนี้ ลิเกของผมเลยเป็นแบบที่ผมรวบรวมเอาความรู้ทางด้านศิลปะการแสดงที่ผมมีทั้งหมดมาใช้สร้างสรรค์ ทั้งการรำไทย การร้องเพลงไทย วิธีการออกแบบแสดงและวิธีการแสดงแบบตะวันตก ผลงานลิเกในยุคแรกๆ ของผมมีความเป็นละครเวทีแบบตะวันตกอยู่มาก ซึ่งอาจจะถูกใจคนเมืองเพราะมันดูปราณีตสวยงาม แต่สำหรับผม วิญญาณของลิเกมันต้องมีการสื่อสารโต้ตอบกับคนดู งานลิเกยุคหลังของผมจึงให้ความสำคัญกับการ ‘ด้นสด’ มากขึ้น โดยยังใช้องค์ความรู้ทางศิลปะการแสดงแบบตะวันตกควบคุมโครงสร้างและเรื่องราวของการแสดง มันเลยเป็นลิเกในแบบของผมเอง หัวใจของต้องลิเกมันคือต้องเข้าถึงใจคนดู อย่างตอนที่แสดงที่ประเทศญี่ปุ่น ผมก็ต้องเรียนภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน ตามแต่ประเทศที่ผมไปแสดงให้พอรู้เรื่องบ้าง พอที่จะสื่อสารกับคนดู ทำให้เขาขำ ให้เขาสนุกได้ สิ่งสำคัญมันใช่การสื่อสารเพื่อให้ผู้ชมกับผมคุยกันรู้เรื่อง แต่เพื่อทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าผมที่แสดงอยู่บนเวทีใกล้ชิดกับพวกเขา เพราะลิเกมันต้องใกล้ มันเป็นศาสตร์ที่เปิดพื้นที่ผู้ชมเข้าถึงศิลปินที่เป็นดาวเด่นในการแสดงได้ เสน่ห์มันของลิเกมันอยู่ตรงนี้

สำหรับคุณตั้วอะไรคือคุณค่าของลิเก

ลิเกมันคือพลังของประชาชน มันคือการแสดงที่นำเอาเสียงของประชาชน ความเชื่อ ความคิด ความฝัน ความต้องการมาแสดงออก มาบอกเล่า ถึงแม้จะเป็นเรื่องราวที่มีมีหน่วยงาน สถาบัน หรืออะไรก็ตามมากำหนดระเบียบแบบแผนเอาไว้ ถ้าลิเกเอามาเล่น กฎเกณฑ์เหล่านั้นไม่ต้องไปสนใจเลย นักแสดงสามารถออกแบบการแสดงได้อย่างอิสระ ผมคิดว่าลิเกเป็นศิลปะที่เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ของประชาชนที่ใช้ต่อสู้เชิงอำนาจเพื่อพื้นที่ทางสังคมของชนชั้นรากหญ้า และที่สำคัญ ลิเกไม่ต้องสมบูรณ์แบบ ความเจ๋งของลิเกคือไม่ใช่เตรียมการแสดงเสร็จหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ไปจากบ้าน คุณเตรียมไปได้แค่ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งคุณต้องไปสร้างเอาตอนแสดงจริง กับคนดูที่คุณไม่รู้จัก กับบรรยากาศที่ควบคุมไม่ได้ นั่นคือความท้าทายในฐานะลิเก และความตื่นเต้นที่คนผู้ชมจะได้รับจากการดูลิเก

ขอบคุณภาพประกอบจาก คุณประดิษฐ ประสาททอง

ทำไมศิลปะการแสดงจึงสำคัญกับสังคม

ผมโตมากับการทำงานละครเชิงสังคมในกลุ่มมะขามป้อมที่ไม่สร้างละครจากแนวคิดที่บอกว่าอะไรสิ่งที่ถูกหรือผิด อะไรคือสิ่งที่ดีหรือไม่ดี แต่เป็นละครที่เรากับชาวบ้านช่วยกันสร้างขึ้น โดยเอาวัตถุดิบการสร้างสรรค์มาจากเรื่องราว วิถีชีวิต รวมถึงปัญหาต่างๆ มาสร้างเป็นละคร เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนได้แสดงออกถึงสถานการณ์หรือปัญหาที่ตนเองต้องเผชิญให้สังคมได้รับรู้ ซึ่งมันส่งผลนำทางไปสู่การแก้ปัญหาหรือหาข้อตกลงร่วมกัน ศิลปะการแสดงสำหรับผมจึงเป็นเหมือนเครื่องมือเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน มากกว่าจะเป็นแค่สื่อเพื่อความบันเทิง

ภาพถ่ายโดย Hideto Maezawa

สัมภาษณ์โดย เวลา อมตธรรมชาติ

การแสดงเดี่ยว ‘เล่นลิเก Play of My Life’ โดย ประดิษฐ ปราสาททอง จะเปิดแสดงในวันที่ 26 – 28 พฤษภาคม 2560 เวลา 20.00 น. ที่ ทองหล่อ อาร์ต สเปซ สำหรับรายละเอียดการแสดง และการสำรองบัตร คลิกที่นี่

Recent Posts

See All
  • Facebook
  • Instagram
bottom of page