top of page
  • Writer's pictureLadda Kongdach

Young Director : พิรุฬห์ลักษณ์ แจ่มอำพร(กรีก) #Hamletamongus

ในแต่ละปีที่ผ่านมาและผ่านไป ในแวดวงหรือกลุ่มงานในสายงานต่างๆ ก็มักจะมีพลังงานรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาอยู่เสมอ สำหรับวงการละครเวทีก็เช่นกัน ปีนี้ก็เป็นอีกปีที่วงการละครเวทีของเราคึกคัก มีผู้กำกับ นักแสดง รวมถึงเหล่านักออกแบบเพื่อการแสดงหน้าใหม่รุ่นใหม่เกิดขึ้นมากมาย และวันนี้เราจะพาไปแนะนำให้รู้จักและพูดคุยกับ น้องกรีก พิรุฬห์ลักษณ์ แจ่มอำพร นิสิตละครปีสุดท้าย จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว หนึ่งในนักแสดงและผู้กำกับรุ่นใหม่ ที่เพิ่งมีผลงานการกำกับการแสดง ศิลปการแสดงนิพนธ์เรื่อง Hemletamongus ไปสดๆร้อนๆเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไปร่วมรู้จักและพูดคุยกับน้องกรีกกันเลยดีกว่าค่ะ

-แนะนำตัวหน่อย^^ พิรุฬห์ลักษณ์ แจ่มอำพร ชื่อเล่น กรีก อายุ 22 ปี -อะไรทำให้เลือกที่จะส่งกำกับเป็นธีสิส ตั้งแต่รู้จักละคร ก็ชอบมาตลอด จริงๆอยากส่งแสดงมากกว่าเพราะชอบแสดงละครมาก แต่การเลือกส่งกำกับมันมาจากการมีเรื่องอยากจะพูดผ่านงานศิลปะมากกว่า อยากทำเพราะอยากเล่าเรื่องนี้ อะไรทำนองนี้ค่ะ -ขั้นตอนการเลือกเรื่องที่จะนำเสนอ ตอนแรกกรีกอ่านบทเยอะมากหลายเรื่องเลย เลือกมาได้ 3 เรื่องที่ชอบที่สุด มีประเด็นคล้ายๆกันทั้งสามเรื่อง พูดถึง ตัวตน ความกล้าหาญ กรอบ และ สังคมที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไป พอนำเสนอ 3 เรื่องนี้ไป ครูก็ถามกลับมาว่าทำไมไม่ลองทำ Hamlet ล่ะ จะได้มีทั้ง 3 เรื่องที่เสนอมาอยู่ในเรื่องเดียวกันไปเลย กรีกเคยอ่านแฮมเลตตอนเรียนปี 2 แล้วไม่ชอบมากๆ ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องแก้แค้น แต่พอไปย้อนอ่านอีกที ไปหาหนังและละครเวทีหลายๆเวอร์ชั่นมาดู ก็พบว่าชอบเหลือเกิน มีประเด็นที่อยากเล่ามากๆอยู่ในแฮมเลตทั้งหมด กรีกเข้าใจแฮมเลตมากขึ้นจากตอนปี 2 มากๆ มีภาพในหัวผุดแล้วผุดอีก มีก้อนไอเดียปิ๊งขึ้นหลายอย่าง กรีกจดไว้เยอะมาก มากกว่าอีก 3 เรื่องที่กรีกเสนอไปอีก กรีกไม่เข้าใจว่ากรีกมองข้ามแฮมเลตไปได้ยังไง จึงตัดสินใจว่าจะทำแน่นอน

-สารที่จะสื่อกับฟอร์มที่ใช้เล่า มันมาคู่กันได้อย่างไร ได้รับแรงบันดาลใจหรือความคิดหลักจากอะไร ต้องบอกก่อนว่าหลังจากเสนอเรื่องแฮมเลตไป กรีกมีไอเดียว่าอยากทำเป็นละครเร่ที่นักแสดงเป็นคนทำทุกสิ่งทุกอย่างบนเวทีเอง ไอเดียก้อนนี้มันมาจากเวลาไปแสดงละครนอกรั้วมหาวิทยาลัย สังคมหลายๆที่ก็ไม่เหมือนกัน บางที่มีชนชั้น มีการจัดลำดับ มีการแยกห้อง แยกอาหาร แบบที่กรีกไม่เคยเข้าใจ บางที่น่าประทับใจมาก เหมือนครอบครัวใหญ่คุยได้ทุกคน ผู้กำกับมานั่งกินข้าวกับนักแสดงคุยกันสนุกสนาน กรีกคิดอย่างแรกเลยว่ากรีกอยากให้โปรดักชั่นนี้อบอุ่นเพื่อที่จะนำเสนอสารที่ต้องการจะบอกได้อย่างเต็มที่ กรีกมีความเชื่อว่า ถ้าเราเป็นอย่างที่เราต้องการจะบอกคนดูไม่ได้ เราก็ไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะบอกว่าเราต้องการจะสื่ออะไร จุดเริ่มต้นมันเลยมาจากกระบวนการก่อนที่จะเริ่มซ้อมนี่แหละค่ะ ฟอร์มที่จะใช้นำเสนอก็เกิดขึ้นตอนที่กรีกบอกไอเดียกับทีมงานและนักแสดงทุกคนว่าเราจะสร้างกลุ่มละครของพวกเราเอง ร่วมกันตั้งข้อตกลง กรีกให้ทีมงานทุกคนมีบทบาท แบ่งงานอย่างเท่าๆกัน นักแสดงก็ต้องรับผิดชอบส่วนอื่นด้วย ไม่ใช่แค่มาซ้อมและกลับบ้าน พวกเค้าต้องดูแล Prop คนละชิ้นสองชิ้น เรียงรองเท้า ทำความสะอาด เก็บเก้าอี้ ดูแลเสื้อผ้า ฯลฯ กรีกอยากให้นักแสดงช่วยแบ่งเบาส่วนอื่น และกรีกก็ทำเองด้วย ทำเป็นตัวอย่าง ฟอร์มมันเลยมาตอนนี้ ตอนที่พวกเราช่วยกันเหมือนครอบครัวเดียวกัน รักกันให้ได้ก่อนที่จะรักคนอื่น เวลาอยู่บนเวทีด้วยกัน แค่มองตากันก็จะเข้าใจกัน ส่วนสารที่จะนำเสนอกรีกมีในใจตั้งแต่อ่านเรื่องนี้แล้วค่ะ กรีกเลยพยายามทำให้นักแสดงและทีมงานเข้าใจผ่านกระบวนการทำงาน ไม่ค่อยได้บอกเป็นคำพูดตรงๆว่าอยากสื่ออะไร แต่พวกเขาได้เข้าใจตอนที่เริ่มอยู่ด้วยกันและสร้างสรรค์ไปด้วยกัน

-ทำงานกับนักแสดงอย่างไร กรีกเริ่มจากให้เขารักตัวละครของเขาก่อนค่ะ ด้วยความที่เราทำละครซ้อนละครโดยมีประเทศโมโนโพลิสเป็นที่ตั้ง ใช้แฮมเลตเล่าว่าโมโนโพลิสมันเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นนักแสดงจะต้องรู้จักตัวละครของตัวเองเป็นอย่างดีทุกตัว โดยเฉพาะตัวละครในโมโนโพลิส เพื่อที่จะได้โยงเข้ากับแฮมเลตได้อย่างสนุกสนาน กรีกกับทีมออกแบบสร้างประเทศโมโนโพลิสขึ้นมา เป็นประเทศในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า กรีกกับทีมคาดเดาเอาว่าในอนาคตโลกเรามันจะไปถึงไหน เราตั้งกฏกติกาในการอยู่ในประเทศ ซึ่งน่ากลัวมาก เราคิดไปสุดโต่งเพื่อให้เห็นภาพอนาคตชัดที่สุด หลังจากนั้นกรีกจึงให้นักแสดงสร้างตัวละครของตัวเอง ผ่านลักษณะและกฏกติกาของประเทศที่กรีกได้ตั้งขึ้น เช่น ประเทศโมโนโพลิสมี 13 ชนชั้น แต่ละชนชั้นมีอาชีพที่ต่างกัน นักแสดงอยู่ชนชั้นไหน มีอาชีพอะไร มีครอบครัวไหม ฯลฯ กรีกถามคำถามเยอะมากเพื่อให้นักแสดงสร้างตัวละครและรู้จักตัวละครของเขาให้เท่ากับที่เขารู้จักตัวเอง นักแสดงจะรักตัวละครในโมโนโพลิสมาก เพราะเขาสร้างมันขึ้นมากับมือ กรีกทำให้นักแสดงทุกคนเลยนะคะทั้ง 27 คน รวมไปถึงผู้กล้าหาญที่ใส่หน้ากากเหล่านั้นด้วย เราทำโมโนโพลิสกันนานมาก กว่าจะเริ่มซ้อมเรื่องแฮมเลตได้ แต่ถือว่าประสบความสำเร็จกับกระบวนการแรกมากๆ เพราะเมื่อนำเข้าสู่แฮมเลตแล้ว นักแสดงโยงตัวละครในโมโนโพลิสที่เขาสร้างขึ้นเช่น ตัวละครที่ถูกกดขี่ทางสังคม ตัวละครที่อึดอัดจากครอบครัว ตัวละครที่เร่ร่อนตามข้างถนน หรือ ตัวละครที่เป็นศิลปินเถื่อน นักแสดงใช้ตัวละครเหล่านี้ตีความตัวละครในแฮมเลต พวกเขาเข้าใจแฮมเลตได้อย่างง่ายดายเพราะเขาเข้าใจสังคมโมโนโพลิส กรีกไม่อยากจะเชื่อว่าการลองผิดลองถูกนี้จะทำให้ตัวละครในแฮมเลตมีน้ำหนักมากขึ้นด้วยซ้ำไป

-ขั้นตอนการเลือกสรรองค์ประกอบศิลป์ต่างๆ กรีกเริ่มทำงานกับทีมออกแบบจากสิ่งที่กรีกเห็นในวันที่พวกเขานำเสนอแนวคิดก่อนที่กรีกจะเลือกเขาเข้าทีมค่ะ พวกเขาถนัดและมีลักษณะเฉพาะตัวที่โดดเด่นคนละอย่าง กรีกรักไอเดียของพวกเขา กรีกเลยหาโจทย์ที่พวกเขาจะเข้าใจมันได้ง่ายและไปทางเดียวกันมากที่สุด ผ่านรูปภาพหนึ่ง ภาพน้้นคือภาพต้นไม้ที่มีรากยึดเกาะหัวกระโหลกเอาไว้ใต้ดินภาพนั้นเป็นสีขาวดำ ต้นไม้โตขึ้นและมีผีเสื้อมาเกาะเอาไว้ ผีเสื้อตัวนั้นเป็นสิ่งเดียวในภาพที่มีสีสันสวยงาม พวกเขาได้โจทย์เดียวกันไปตีความร่วมกับกฏกติกาของประเทศโมโนโพลิสที่เราร่วมกันสร้างขึ้น อีกอย่างกรีกให้ทีมออกแบบสร้างตัวละครของตัวเองเหมือนที่นักแสดงสร้างด้วย กรีกอยากให้ทีมออกแบบเป็นเหมือนนักแสดงคนหนึ่งที่สื่อสารเรื่องราวผ่าน ฉาก แสง เสื้อผ้า หน้าผม อีกอย่างกรีกอยากให้เขารักหน้าที่ของเขา รักการอยู่ในกลุ่มละครนี้ กรีกเลยไว้ใจให้พวกเขาลงมือทำสิ่งที่เขาถนัด กรีกไม่ค่อยไปก้าวก่ายงานของเขากรีกแค่คอยรวมให้ภาพมันไปในทางเดียวกัน ให้กำลังใจ เอื้ออำนวยความสะดวกของแต่ละฝ่ายเข้าด้วยกัน และให้นักแสดงสื่อสารงานออกแบบที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้นมาให้ได้มากที่สุด

-การเป็นละครในมหาวิทยาลัยมีข้อจำกัดอะไรบ้าง ถ้าได้ทำละครเรื่องนี้อีกครั้งนอกรั้วมหาวิทยาลัย คิดว่าจะแตกต่างไปไหม ในรูปแบบใด ข้อจำกัดทางใจไม่มีหรอกค่ะ เราสนุกกับการทำงานกันมาก เพราะคนเราเยอะและเราก็เคารพกันและกันมากๆ เราหาเหตุผลให้กับทุกสิ่งอย่างว่าอะไรได้หรือไม่ได้เพราะอะไร ฟังกันมาก คุยกันมาก ปัญหาที่เกี่ยวกับการเป็นละครมหาวิทยาลัยเลยไม่ค่อยมีเข้ามาในโปรดักชั่น ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ซ้อมมากกว่า ทั้งเทศกาลเรามีละคร 5 เรื่องค่ะ ทุกเรื่องจะมีห้องซ้อม ซึ่งล้วนแต่เป็นห้องที่ต้องใช้เรียนด้วย เวลาที่เราซ้อมก็มักจะไปตรงกับเวลาที่มีคนเรียนอยู่เสมอ เราเลยต้องเร่กันจริงๆ ซึ่งดันกลายเป็นข้อดีมากๆ เราย้ายไปทุกที่ ทั้งในตึกคณะ และรอบๆมหาวิทยาลัย ขนเครื่องดนตรี หม้อ กะทะ ถ้วย ไห ที่ใช้เคาะ ไปรอบๆ ตรงไหนซ้อมได้ก็ลองไหลไปกับสถานที่ ฝึกพลัง ฝึกโปรเจ็กต์เสียง เราไม่รู้ว่าวันนี้ที่ไหนจะว่าง นักแสดงเลยต้องเตรียมตัวว่า ถ้าซ้อมตรงนี้นักแสดงจะต้องไปยืนตรงไหน และทำอะไรได้บ้าง ช่วยให้นักแสดงได้วิธีการใหม่ๆ และมีทางเลือกให้พวกเขาเล่นเพิ่มขึ้นด้วย ถ้าได้ทำเรื่องนี้อีกครั้งก็คงจะไม่เหมือนเดิมแน่นอนค่ะ ไม่ใช่เพราะสารหรือเนื้อหาเปลี่ยนไป แต่อาจจะเพราะว่านักแสดง Set เก่าทั้ง 27 คนคงจะมาได้ไม่ครบ น้องๆต้องเรียน เพื่อนๆก็มีแผนอนาคตกันแล้ว ทีมออกแบบคงจะมาได้ไม่ครบอีกเหมือนกัน กรีกว่ายิ้มให้กับสิ่งที่ผ่านน่าจะอิ่มพอแล้ว รอไว้ทำประเด็นใหม่ๆที่อยากพูดน่าสนุกกว่า แต่ถ้าต้องทำจริงๆ ก็อาจจะลดจำนวนนักแสดงลง ลดองค์ประกอบศิลป์ลง ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาปิ๊งไอเดียใหม่ๆขึ้นมาก่อนค่ะ -การจัดระบบความคิด/วิธีการทำงานของผู้กำกับในมุมมองของกรีก เป็นอย่างไร กรีกทำงานกับความรัก ความเชื่อ และความหวัง กรีกรักในสิ่งที่กรีกทำ รักในทีมงาน กรีกเชื่อพลังของละคร และกรีกมีความหวังให้กับสิ่งที่กรีกเชื่อ ละครเรื่องนี้เลยถูกขับเคลื่อนด้วยพลังทั้งหมดที่กรีกมีในช่วงอายุ 22 ปี กรีกคิดงานตลอดเวลา คิดอะไรออกก็จดเอาไว้ มีสมุดสองเล่มสำหรับแฮมเลตโดยเฉพาะ ก่อนไปซ้อมกรีกจะคิดไปจากบ้านแล้วว่าจะทำอะไร กรีกฟังสิ่งที่นักแสดงเสนอมาเสมอเพราะกรีกเชื่อว่านักแสดงจะรู้ว่าตัวละครคิดอะไรเมื่อยืนอยู่ในเหตุการณ์นั้น กรีกเลยยอมรับกับนักแสดงว่ากรีกอาจจะเข้าใจตัวละคร แต่ไม่ได้รู้ทั้งหมดที่ตัวละครเป็น กรีกอยากให้พวกเขาเสนอกันเยอะๆ และกรีกจะเลือกจากสิ่งที่พวกเขาคิด ถ้าเขาคิดไม่ออก กรีกก็เสนอสิ่งที่กรีกคิดให้เขาลองทำ ถ้ามันยังไม่ใช่ก็ช่วยกันหาต่อไป มันก็เป็นการบ้านที่กรีกต้องทำทุกวันหลังจากเลิกซ้อมด้วย กรีกมีเวลา 1 คืนก่อนที่จะหาวิธีหรือไอเดียใหม่ๆไปให้นักแสดงลองซ้อม ซ้อมเสร็จ กรีกก็กลับมาใช้อีก 1 คืนเพื่อตกตะกอนและหาวิธีใหม่ๆ กรีกทำแบบนี้ทุกวันจนถึงวันแสดง กรีกเคยวาดแผนผังจากสิ่งที่กรีกจดไว้ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น อีกอย่างนักแสดงและทีมงานเขาเหนื่อยกันมากๆ ทุกคนต้องเรียนต้องทำการบ้าน ทำงานพิเศษ และต้องซ้อม กรีกใช้ใจทำงานเยอะมากค่ะ กรีกดูแลใจทุกคน กรีกไม่ได้คิดแค่เขาต้องมาเล่นละครให้กรีก แต่กรีกอยากให้ละครมันทำงานกับเขา ทำให้เขาสนุกและอยากมาซ้อมละครเหมือนที่นี่ทำให้เขาหายเครียด กรีกจะถามสารทุกข์สุกดิบ ให้เขาเล่าให้เขาระบาย กรีกกอด กรีกให้กำลังใจกรีกบอกรัก อันนี้กรีกว่าสำคัญที่สุดและเป็นสิ่งที่ทำให้ Hamletamongus แข็งแรง โดยที่ยังไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่าผลงานจะออกมาดีหรือไม่ แต่พวกเรามีความเชื่อและความหวังเสมอ

-รับมือกับแรงรีวิวทั้งดีและร้าย/คำวิจารณ์ที่ดูเหมือนจะ misinterpreted หรือความคิดเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความตั้งใจของเราอย่างไรบ้าง กรีกไม่รอรับมืออะไรเลยค่ะ กรีกฟัง กรีกชอบให้มีคนติ กรีกอยากพัฒนา กรีกฟังเยอะมาก และรอฟังด้วย กรีกเชื่อว่าถ้าเราฟังเยอะเราจะมีไอเดียใหม่ ถ้าเราเห็นข้อผิดพลาดเยอะ เราจะได้ปรับปรุง กรีกชอบมากเลย ถ้าเฟลเราจะไม่มีแรงสร้างงานต่อ เราแค่ยอมรับ และปรับปรุง ถ้าคำตินั้นค่อนข้างน่ากลัวและบั่นทอน ก็เลือกฟังค่ะ อะไรที่เราเชื่อและยืนหยัดจงหนักแน่นและยืนหยัดต่อไปในฐานะของผู้สร้างสรรค์ แต่เราต้องหมั่นสำรวจดูตัวเองว่าสิ่งที่เราเชื่อนั้น มันไม่ได้ทำร้าย หรือส่งผลเสียให้อะไรต่อมิอะไรใช่ไหม

-ถ้าไม่ทำงานออกมาในรูปแบบของ theatre จะทำงานออกมาในรูปแบบไหน หรือจะทำไหม อย่างไร งานเขียนมั้งคะ อันนี้ปิ๊งไอเดียออกมาหลังจากอ่านคำถามแต่ไม่คิดว่าจะทำได้จริงๆไหม กรีกชอบเล่าเรื่อง และคงสนุก ถ้าได้เขียนเล่าออกมา เขียนในภาพที่เกิดขึ้นบนเวทีไม่ได้ตอนทำละคร จะเขียนให้เห็นเป็นภาพเลย ให้รู้กันไปเลยว่าจริงๆแล้วโมโนโพลิสมันเป็นยังไง แล้วเขาเล่นแฮมเลตกันทำไม แต่ถ้าเขียนคงจะเอาโมโนโพลิสใส่มาอีกเยอะๆเลยค่ะ

...

810 views0 comments

Recent Posts

See All
  • Facebook
  • Instagram
bottom of page