top of page
  • รัฐกร พันธรักษ์

ยังเยาว์ Immature: adult and childish sometimes

เมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา ผมตื่นเต้นที่ได้ทราบข่าวการร่วมงานกันระหว่างพี่เฟิร์ส (ธนพนธ์ อัคควทัญญู) ผู้กำกับและผู้เขียนบทจากกลุ่มละคร Splashing theatre company และพี่นาด (สินีนาฏ เกษประไพ) ผู้กำกับและนักแสดงจากกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละคร เนื่องจากทั้ง 2 คนคือคนที่ผมชื่นชมและติดตามมาเสมอ “ยังเยาว์” จึงเป็นผลงานที่ผมรอคอยมากที่สุดในครึ่งแรกของปีนี้

“Growing up is losing some illusions in order to acquire others."

(การเติบโตคือการสูญเสียภาพลวงตาบางอย่างเพื่อให้ได้ภาพลวงตาอย่างอื่นมาแทน)

ประโยคเกริ่นนำของละครที่ชวนให้ผู้พบเห็นพยักหน้าเห็นด้วย ในขณะเดียวกันก็เกิดความฉงนว่านักแสดงทั้ง 2 จะพาเราไปพบกับภาพลวงตาแบบใดเพื่อพิสูจน์นิยามของ “การเติบโต” และเมื่อได้ชมละครเรื่องนี้ แน่นอนว่าคำถามดังกล่าวถูกตอบครั้งแล้วครั้งเล่าในการแสดง ภาพลวงตาหลากหลายรูปแบบถูกร้อยเรียงเข้าหากันอย่างประหลาดล้ำ(ในเชิงบวก) เป็นภาพลวงตาที่เย้ายวนดึงดูดให้เราเข้าไปแต่ในบางมุมมันกลับผลักเราออกมาอย่างรุนแรง จนมันสามารถสร้างความรู้สึกมากมายให้ผมได้

“บ้านที่เราอยู่ไม่ใช่บ้านของเรา...”

โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการตีความ ผู้ชมรับรู้ตรงกันว่าฉากใน “ยังเยาว์” ถูกจัดให้เป็นบ้าน หากละครดำเนินด้วยเรื่องราวธรรมดาทั่วไป การออกแบบดังกล่าวอาจส่งผลเพียงให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนมาเยี่ยมบ้านของใครสักคน แต่เมื่อสิ่งที่พวกเขาหยิบยื่นให้กลับเป็นภาพลวงตาของพวกเขาเอง พื้นที่แห่งนี้จึงกลายเป็นจุดร่วมของภาพลวงตาทั้งหมด ไม่ต่างจากบ้านที่เป็นศูนย์รวมและตัวแทนของความทรงจำ

คงจะดีไม่น้อยหากความละมุนในความหมายนั้นกลายเป็นสิ่งเดียวที่อบอวลไม่รู้จบ แต่มันคงไม่ใช่แนวทางของพี่เฟิร์สและพี่นาด เมื่อทั้ง 2 คนค่อย ๆ ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าบ้านหลังนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากภาพลวงตาที่พวกเขาผลัดกันเปิดเผยออกมา หากพูดให้ถูกต้องคือ บ้านหลังนี้ต่างหากที่เป็นภาพลวงตาภาพแรก ภาพลวงตาที่ผู้ชมเห็นตั้งแต่เดินเข้ามายังโรงละครและเข้าใจไปเองว่านี่คือบ้านที่สวยงาม ผมคิดไปถึงคำนิยามที่มักจะได้ยิน “บ้านคือพื้นที่ปลอดภัย” บางทีภาพลวงตาเหล่านั้นอาจจะเป็นเหตุผลของคำนิยาม เพราะ 1 ในหน้าที่ของมันคือช่วยหล่อหลอมและปลอบประโลมให้เราผ่อนคลาย ทำให้เราเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงและเป็นเจ้าข้าวเจ้าของพื้นที่นั้น จนในที่สุดมันจึงกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเรา เมื่อผมตระหนักว่า “ยังเยาว์” ได้นำทางความคิดของผมมาไกลถึงจุดนี้ ผมก็รู้สึกกลัวขึ้นมา มันเป็นความกลัวที่หนักหน่วงจนไม่สามารถอธิบายออกมาได้ง่าย ๆ และมันอาจไม่มีประโยชน์ที่จะพยายามอธิบาย

“อยากมีประตูไปที่ไหนก็ได้เหมือนโดเรม่อน”

ไม่ว่าจะเป็นภาพลวงตาหรือไม่ก็ตาม ฉากที่ทำให้ผมรู้สึกว่าถูก “ปะทะ” อย่างจัง คือฉากที่นักแสดงพูดถึงช่วงชีวิตของตัวเองในวัยต่าง ๆ แม้ว่าการพูดพร้อมกันจะทำให้ผมไม่สามารถฟังเรื่องราวทั้งหมดได้ แต่ ณ ช่วงเวลาสั้น ๆ ตรงนั้นผมรู้สึกคล้ายตัวเองเป็นโรคไบโพล่าร์ ผมยิ้มและหัวเราะไปกับความสนุกสนานของประสบการณ์ที่ได้ยินราวกับว่ามันเป็นความหวังที่สว่างจ้า แล้วผมก็เปลี่ยนไปหดหู่เหมือนว่ารอยยิ้มเมื่อครู่ไม่มีอยู่จริง ความกลัวที่คุ้นเคยเข้ามาทักทายผมอีกครั้ง แต่ยังไม่ทันที่จะได้ทักทายกลับไป ผมก็ถูกปลอบประโลมอย่างอบอุ่นจากภาพลวงตาชุดใหม่ และความรู้สึกเหล่านี้แปะมือสลับกันพุ่งเข้ามาหาผมอย่างต่อเนื่อง เมื่อฉากนี้สิ้นสุดลง ผมรู้สึกราวกับนั่งอยู่ตรงนั้นมานานกว่าค่อนคืน

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมต้องใช้เวลาในการตกตระกอน คือ “ยังเยาว์” ได้ทลายกำแพงเดิม ๆ ของความฝันกับความเป็นจริง (และพวกเขาได้สร้างกำแพงใหม่ขึ้นมาแทนที่เสียด้วย!) เมื่อสิ่งที่คิดว่าจริงกลับกลายเป็นเพียงภาพลวงตา สิ่งที่คิดว่าเป็นความฝันกลับจับต้องได้มากกว่าสิ่งที่มีอยู่ และเมื่อความฝันถูกความเป็นจริงรุกราน เรากลับรู้สึกว่ามันยิ่งไม่มีอะไรให้จับต้องได้อีกต่อไป

ข้อสังเกตสำคัญที่ผมมีต่อตัวเองเมื่อละครจบคือ “ยังเยาว์” ทำให้ผมได้เห็นพี่นาดทำอะไรที่ไม่ค่อยได้เห็นเท่าไหร่นัก แต่ถึงอย่างนั้นละครเรื่องนี้ก็ไม่ได้ทิ้งลายเซ็นต์ของพี่นาดไป คือยังคงเป็นละครที่เชื่อมโยงถึงประเด็นในสังคมได้อย่างแยบแยลและชาญฉลาด โดยเฉพาะในเรื่องนี้ที่ผมมองว่าไม่ต้องใช้การตีความและอ่านความหมายมากเท่าผลงานที่ผ่าน ๆ มา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผมเลือกที่จะไม่เชื่อมโยงตัวเองกับประเด็นเหล่านั้น ผมคิดว่าเป็นเพราะละครเรื่องนี้ได้สร้างความเชื่อมโยงกับผมในอีกช่องทางไว้อย่างชุ่มฉ่ำแล้ว ประเด็นต่าง ๆ ที่เดินมาสะกิดผมจึงไม่เกิดผลนัก ในส่วนนี้ผมต้องขอกล่าวติดตลกว่าผู้ชมคนอื่นที่ไม่ได้ “งอแง” เหมือนผมคงจะเพลิดเพลินกับการเชื่อมโยงเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

นอกเหนือจากนี้ “ยังเยาว์” ยังทำให้ผมนึกย้อนกลับไปสมัยที่เป็นนักศึกษาปี 1 และมีโอกาสได้ชมละครเรื่อง “เรื่องของอัลเบอร์ทีน” (มาเรียน พุ่มอ่อน, 2557) ซึ่งเป็นละครสารนิพนธ์นักศึกษาที่ผมชอบมากที่สุดจนถึงวันนี้ อัลเบอร์ทีนคือตัวละครอายุ 70 ปี ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ เธอพบว่าตัวเองสามารถพูดคุยกับตัวเองในวัยต่าง ๆ จากอดีตได้ ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ผู้ชมได้รับรู้เรื่องของอัลเบอร์ทีนไปพร้อม ๆ กับเธอ หลังจากดูการแสดงเรื่องนี้จบ ผมเกิดสภาวะที่เต็มไปด้วยคำถามและความหวั่นใจ ผมจึงเขียนบันทึกถึงสภาวะนั้นไว้ และครั้งนี้ “ยังเยาว์” ทำให้ผมต้องย้อนกลับไปอ่านสิ่งที่บันทึกไว้อีกครั้ง เนื่องจากสภาวะเดียวกันนี้ได้มาเยี่ยมเยือนผมตั้งแต่ละครยังดำเนินไปไม่ถึงครึ่งเรื่อง และเป็นการมาเยือนในระดับที่รุนแรงกว่าครั้งไหน ๆ ผมย้อนกลับไปอ่านบันทึกดังกล่าวเพื่อจะพบว่าคำถามเหล่านี้ยังคงวนเวียนอยู่กับผมเสมอ และดูเหมือนว่ามันจะกลายเป็นเพื่อนตายสำหรับผมไปอีกนาน

"หากวันนึงในอนาคตเราย้อนนึกถึงตัวเองในวันนี้ เราจะรู้สึกกับตัวเองในตอนนี้อย่างไร? หรือหากตัวเราในวันนี้สามารถมองดูตัวเองในอนาคตได้ เราจะรู้สึกกับตัวเรา “อีกคน” นั้นอย่างไร? เราจะเติบโตไปเป็นคนที่ตัวเองเคยเกลียดหรือไม่? หรือเราจะเติบโตไปเพื่อเรียนรู้ว่าตัวเองในอดีตนั้นเป็นเพียงคนที่ไม่รู้อะไรเลย?" - ส่วนหนึ่งจากบันทึกถึง “เรื่องของอัลเบอร์ทีน”

สุดท้ายแล้วผมพบว่า “ยังเยาว์” ไม่ได้ช่วยตอบคำถามในบันทึกของผม อันที่จริงละครเรื่องนี้ไม่ได้แนะนำวิธีที่จะได้มาซึ่งคำตอบใด ๆ หากแต่ช่วยทำให้เข้าใจว่าสภาวะเหล่านี้คือสิ่งปกติที่สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ หรือหากกล่าวให้ตรงไปตรงมามากขึ้น ผมเกิดการเรียนรู้ว่าสภาวะเหล่านี้ล้วนเป็นหมุดหมายหนึ่งของชีวิต เป็นหมุดหมายสำคัญที่จะต้องเกิดขึ้น เพราะนี่คือสภาวะที่ยืนยันว่าเราทุกคนล้วนมี “ภาพลวงตา” เป็นของตัวเอง เป็นสภาวะที่ช่วยให้เราตระหนักถึงการใช้ชีวิต และเป็นสภาวะที่พิสูจน์ว่าเรายังเป็นมนุษย์ เป็นเพียงมนุษย์ และเป็นถึงมนุษย์

รัฐกร พันธรักษ์

140 views0 comments
  • Facebook
  • Instagram
bottom of page